วันพฤหัสบดีที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย

พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย จ.นครปฐมตั้งอยู่ ถนนปิ่นเกล้านครชัยศรี กิโลเมตรที่ 31 ตำบลขุนแก้ว อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม

ตั้งอยู่ถนนปิ่นเกล้านครชัยศรี กิโลเมตรที่ 31 ตำบลขุนแก้ว อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์นี้เริ่มดำเนินการราว พ.ศ. 2527 โดยผู้ร่วมงานได้ซื้อที่ดินที่เป็นที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ปัจจุบันนี้จำนวน 12 ไร่ และเริ่มดำเนินการก่อสร้างตัวอาคารใน พ.ศ. 2529 เสร็จในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2531ในด้านการสร้างตัวหุ่นขี้ผึ้ง เกิดจากแรงดลใจของผู้สร้างสรรค์กลุ่มหนึ่ง ที่มีวัตถุประสงค์จะเผยแพร่และอนุรักษ์ไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรมประเพณีของไทย เพื่อประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าของเยาวชน ผู้ปั้นหุ่นขี้ผึ้ง คือ นาย ดวงแก้ว พิทยากรศิลป์ ได้ค้นพบการนำไฟเบอร์กลาสมาสร้างรูปหุ่นขี้ผึ้งแทนการใช้ขี้ผึ้งไม่เหมาะสมกับสภาพอากาศของเมืองไทยไฟเบอร์กลาสมีความเหมาะสมเพราะคงทนถาวรให้ความรู้สึกนุ่มนวลสวยงามมากกว่า การดำเนินงานปั้นหุ่นระยะแรกมีปัญหามากทั้งทางด้านอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือที่ต้องคิดออกแบบสร้างขึ้นเองเพราะไม่มีในท้องตลาดในที่สุดสามารถสร้างหุ่นขี้ผึ้งไฟเบอร์กลาสได้สำเร็จเป็นรูปแรกคือ พระราชสังวราภิมณฑ์ (หลวงปู่โต๊ะ) ซึ่งเริ่มดำเนินการในราว พ.ศ. 2525 เสร็จ พ.ศ. 2527 หลังจากประสบความสำเร็จแล้วคณะผู้ร่วมงานมีความเห็นว่าควรสนับสนุนให้ก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง การก่อสร้างพิพิธภัณฑ์หุ่นขึ้ผึ้งไทยจึงเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2527 ดังกล่าวแล้วจนกระทั่งปัจจุบันคณะทีมงานสามารถสร้างหุ่นขี้ผึ้งไฟเบอร์กลาสได้ถึง 37 รูป ตั้งแสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
สิ่งที่น่าสนใจ ภายในพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ได้แก่ ชุดพระอริยสงฆ์ ซึ่งเป็นรูปเหมือนของพระสงฆ์ที่สำคัญ ๆ เช่น พระมงคลเทพมุนี(สด จนทสโร หลวงพ่อวัดปาก น้ำ) หลวงพ่อเกษม เขมโก แห่งสุสานไตรลักษณ ์ จังหวัดลำปาง เป็นต้น ชุดพระบรมรูปแบบของชีวิตประจำวัน เช่นประติมากรรมหมากรุกไทยมีการแสดงออกทั้งหน้าตา กิริยาอาการประติมากรรมสนใจข่าว ซึ่งมีลักษณะเหมือนจริงมากทั้งสีผิว เส้นผม ได้แก่ ชุดประเพณีการละเล่นของไทย ชุดวรรณคดีไทยเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่ เป็นต้น พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ได้จัดแสดงภาพสะท้อนของสังคมไทยในมุมมองต่าง ๆและวิถีชีวิตของคนสมัยปัจจุบัน เป็นแหล่งที่ผู้สนใจใฝ่รู้ทางวิชาการด้านศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี ประวัติศาสตร์จะไปศึกษาหาข้อมูลได้และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดึง ดูดนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศได้มาก
ในบรรดาผลงานศิลปะอันทรงคุณค่า ส่วนมากมักจะเกิดจากแรงบันดาลใจของศิลปิน นอกจากนี้ยังต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ ความสามารถในงานศิลป์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงประสบการณ์ที่สั่งสมเป็นเวลายาวนานของศิลปินคนนั้นๆ

เช่นเดียวกับ อาจารย์ดวงแก้ว พิทยากรศิลป์และคณะ ที่ได้ทุ่มเทพลังกายพลังใจ ร่วมกันคิด ค้นคว้า และพัฒนาเทคนิคในการสร้างสรรค์ “หุ่นขี้ผึ้ง” ตามแนวความคิดใหม่อย่างจริงจังตลอดเวลานานกว่า 10 ปี จนกลายเป็น “ประติมากรรมแห่งชีวิต” ซึ่งมากด้วยคุณค่าแห่งงานศิลป์ ที่ไม่เพียงแค่สะท้อนประสบการณ์ ความชำนาญของศิลปินที่คร่ำหวอดกับวงการประติมากรรมเท่านั้น แต่ยังชี้ชัดถึงแรงใจและแรงศรัทธาอันแรงกล้าในการแสวงหาความรู้ วิทยาการอันแปลกใหม่ให้แก่วงการศิลปะอีกด้วย สำหรับหุ่นขี้ผึ้ง "ประติมากรรมแห่งชีวิต" ของ อ.ดวงแก้ว ได้สะท้อนงานศิลปะที่มีชีวิตชีวาออกมาในทุกตารางนิ้ว นับแต่ผิวเนื้อของหุ่นที่แลดูเหมือนจริง ทั้งสีสัน ลายผิว รูขุมขน ตลอดจนรอยแผลต่างๆ ไปจนถึงเส้นผมที่ได้รับการปลูกทีละเส้น และดวงตาที่หล่อขึ้นเป็นพิเศษจึงดูมีแววตาและมีน้ำหล่อเลี้ยง ดุจนัยน์ตาจริง ทุกรายละเอียดได้รับการบรรจงสร้างสรรค์อย่างลึกซึ้งราวกับจะบันทึกประสบการณ์ชีวิตของบุคคลต้นแบบลงในทุกร่องรอย ซึ่งสามารถถ่ายทอดสู่ผู้ชมโดยแทบไม่ต้องอาศัยคำบรรยายใดๆ

จากหุ่นขี้ผึ้ง สู่หุ่นไฟเบอร์กลาส อาจารย์ดวงแก้วเล่าประวัติก่อนจะหันมาเป็นนักปั้นเต็มตัวให้ฟังว่า “ตอนผมเรียนจบคณะประติมากรรมศิลปากรมาใหม่ๆ ก็ทำงานหากินไปเรื่อย งานปั้นหุ่นขี้ผึ้งทำเป็นงานอดิเรก ทำเล่นตามความชอบของเรา ตอนแรกยังปั้นด้วยขึ้ผึ้งอยู่เลย ทีนี้พอทำไปทำมาเมื่อปั้นได้แล้วรู้ว่ามันไม่ทน ก็เลยคิดต่อไปว่ามีวัสดุอะไรทน ก็เลยได้ไฟเบอร์กลาส จากนั้นก็ค้นคว้าหาข้อมูลด้วยตัวเอง ลองผิดลองถูก ปั้นไปเรื่อยๆ จะว่าไปไฟเบอร์กลาสเป็นวัสดุที่ทนความร้อนได้ดี อยู่เมืองไทยแล้วไม่ละลาย ผมว่าทนร้อนได้ดีกว่าคนอีก”

ด้วยสภาพอากาศของประเทศไทยไม่เหมาะสมกับการสร้างหุ่นด้วยขี้ผึ้ง เนื่องจากมีความร้อน ความชื้นสูง รวมทั้งมีฝุ่นละอองมาก และที่สำคัญขี้ผึ้งเป็นวัสดุที่ไม่คงทน ไม่คงสภาพจึงมีโอกาสเสื่อมสลายลงได้ถึงแม้จะดูแล บำรุงรักษาเป็นอย่างดีแล้วก็ตาม

1 ความคิดเห็น:

sodami กล่าวว่า...

เคยไปแล้ว...เหมือนจริงมาก